Welfare State (-)

รัฐสวัสดิการ (-)

รัฐสวัสดิการ คือ รูปแบบการดำเนินงานของรัฐหรือประเทศที่มีมาตรการในการพิทักษ์และส่งเสริมความเป็นอยู่ของพลเมืองทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจในรูปของเงิน สิ่งของ การบริการ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างน้อย มูลเหตุของการดำเนินการสืบเนื่องมาจากผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่แม้จะนำความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป แต่ก็นำความทุกข์ยากมาสู่พลเมืองระดับล่างเป็นจำนวนมากความช่วยเหลือแบบเดิมจากครอบครัวชุมชนท้องถิ่นเจ้าของที่ดินหรือสมาคมพ่อค้าและช่างฝีมือที่เรียกว่ากิลด์ (guild) ไม่อาจรับมือกับการที่บุคคลขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพได้อีกต่อไป การจัดการโดยรัฐจะครอบคลุมหรือบรรเทาปัญหาได้มากกว่า เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สิ้นสุดลง อังกฤษเริ่มใช้นโยบายรัฐสวัสดิการก่อน และประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาก็ทยอยดำเนินการตามจนนโยบายรัฐสวัสดิการเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปอย่างไรก็ตามรูปแบบการจัดรัฐสวัสดิการก็มีหลากหลายตามลักษณะเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของประเทศนั้น ๆ ปัจจุบันระบบรัฐสวัสดิการบางแห่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเพราะต้องใช้งบประมาณของรัฐสูงรวมทั้งเมื่อเวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ สังคมมีตัวแปรมากขึ้นจนท้าทายการดำรงอยู่ของระบบ

 ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* มีความไม่สงบเกิดขึ้นหลายแห่งในยุโรปจากการที่โครงสร้างสังคมเปลี่ยนจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม ผู้คนที่เคยเป็นเสรีชนด้วยการทำเกษตรหรืองานฝีมือ กลายมาเป็นลูกจ้างหรือแรงงานรับจ้าง เมื่อคนเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่มากขึ้น ความเกื้อกูลระหว่างกันก็ลดน้อยลง ไม่เหมือนครั้งที่อยู่ในชุมชนชนบทเล็ก ๆ ซึ่งผู้คนรู้จักกันและกันและการเปลี่ยนงานก็อาจทำให้ต้องไปอยู่ในสถานที่ที่ขาดคนรู้จักมักคุ้น นอกจากนี้ยังเกิดโรคระบาด การก่อตัวของชุมชนแออัด ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างผู้ประกอบการกับแรงงาน การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนชั้นแรงงาน และอื่น ๆ องค์กรการกุศลของชนชั้นกลางพยายามเข้าช่วยเหลือปัดเป่าแต่ในที่สุดก็ไม่อาจรับมือกับปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ และนำไปสู่การยอมรับว่ารัฐควรเข้าไปมีบทบาทแทนครอบครัวหรือชุมชน โดยไม่คำนึงว่ารัฐนั้นอยู่ในระบอบการปกครองใด ประชาธิปไตย หรือเผด็จการ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) ที่เน้นความเป็นปัจเจกของบุคคลจึงลดความเข้มข้นลงในยุโรป และเปิดทางให้สังคมยอมรับบทบาทของรัฐมากขึ้น ซึ่งการเข้าไปเกี่ยวข้องของรัฐต่อพลเมืองก็ต่างระดับกันไปในแต่ละแห่ง

 แม้ระบบรัฐสวัสดิการแบบสมัยใหม่หรือแบบที่เห็นในปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ และอังกฤษเป็นผู้นำประเทศในยุโรปที่นำมาเป็นนโยบายและดำเนินการ แต่เยอรมนีเป็นชาติแรกที่ใช้ระบบสวัสดิการโดยรัฐในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ กล่าวคือ ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีคนแรกของจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ได้นำระบบมาใช้โดยพัฒนาโครงการสวัสดิการของรัฐปรัสเซียและรัฐแซกโซนี (Saxony) เขาจัดให้มีการสงเคราะห์ผู้สูงอายุ การประกันอุบัติเหตุ และการประกันสุขภาพจุดประสงค์ของบิสมาร์คในการดำเนินการดังกล่าวมีอยู่หลายประการ เช่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่สงบในจักรวรรดิแบบเหตุการณ์คอมมูนแห่งปารีส (Commune of Paris)* ที่เกิดขึ้นที่ฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๗๑ และเพื่อตัดคะแนนนิยมของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งเยอรมนี [Socialist Workers’ Party of Germany–SAPD ต่อมาคือ พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน (German Social Democratic Party; Social Democratic Party of Germany–SPD)*] ที่กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆการดำเนินการแบบฉวยโอกาสของบิสมาร์คเท่ากับเป็นการหาเสียงสนับสนุนจากชนชั้นแรงงาน ทั้งนโยบายดังกล่าวมีส่วนช่วยลดจำนวนแรงงานที่หลั่งไหลไปหางานทำที่สหรัฐอเมริกาซึ่งให้ค่าแรงสูงกว่าแต่ไม่มีระบบสวัสดิการจากรัฐ ส่วนอังกฤษเริ่มนำนโยบายสวัสดิการจากรัฐมาใช้โดยเริ่มจากโครงการปฏิรูปที่หลากหลายของรัฐบาลพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ระหว่างค.ศ. ๑๙๐๖–๑๙๑๔ ได้แก่การออกพระราชบัญญัติเงินสงเคราะห์คนชรา (Old-Age Pensions Act) ค.ศ. ๑๙๐๘ พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหางาน (Labour Exchanges Act) ค.ศ. ๑๙๐๙ และพระราชบัญญัติการประกันแห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๑๑ (National Insurance Act 1911) ซึ่งวางระบบประกันการว่างงานและการเจ็บป่วยจากการทำงาน

 อย่างไรก็ตาม แนวคิดรัฐสวัสดิการในอังกฤษเริ่มก่อตัวขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ เมื่อคณะกรรมาธิการซึ่งมีวิลเลียม เฮนรี เบเวอริดจ์ (William Henry Beveridge)* เป็นประธาน ได้จัดพิมพ์รายงานหนา ๒๙๙ หน้าออกเผยแพร่จำนวน ๗๐,๐๐๐ ชุด รายงานนี้มักเรียกกันว่า รายงานเบเวอริดจ์ (Beveridge Report)* ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการระหว่างหน่วยงานว่าด้วยการประกันสังคมและบริการอื่นๆมีชื่อเป็นทางการว่า Report on Social Insurance and Allied Services เรียกร้องให้รัฐบาลบูรณะประเทศด้วยการกำจัดความเลวร้ายในสังคม ๕ ประการ คือ ความขาดแคลน (want) โรคภัย (disease) ความโง่เขลาเบาปัญญา (ignorance) ความสกปรก (squalor) และความเกียจคร้าน (idleness) โดยเสนอให้ประชาชนที่ทำงานออกเงินสมทบกองทุนประกันแห่งชาติเพื่อแลกกับการที่จะได้ประโยชน์ยามที่เกิดเจ็บป่วย ตกงาน เกษียณ หรือเป็นหญิงม่ายโดยกระทรวงที่จะจัดตั้งขึ้นคือกระทรวงประกันสังคม (Ministry of Social Security) ทำหน้าที่ดำเนินการเรื่องนี้ ส่วนเรื่องของการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นก่อนสงครามโลกครั้งที่๒ค่าบริการสุขภาพส่วนใหญ่จ่ายโดยหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ เช่น สมาคมเพื่อนสงเคราะห์ (friendly society) สหภาพแรงงานและบริษัทประกันต่าง ๆ หน่วยงานเหล่านี้ให้หลักประกันด้านการเจ็บป่วย การว่างงาน การเป็นผู้พิการโดยจัดหารายได้ให้ยามที่บุคคลนั้น ๆ ไม่สามารถทำงานได้ แต่ครั้งนี้เบเวอริดจ์เสนอให้หน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Service) จัดการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า โดยเน้นว่าการให้บริการสาธารณสุขแบบครอบคลุมทุกคนนั้นจะมีประสิทธิภาพและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการปล่อยให้ประชาชนพึ่งพิงสมาคมเพื่อนสงเคราะห์แห่งต่าง ๆ การทำแผนประกันส่วนบุคคลหรือการจัดระบบสวัสดิการให้คนยากไร้อย่างที่รัฐทำอยู่ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ความจำเป็นอังกฤษเข้าสู่ระบบรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริงหลังจากชาวอังกฤษซึ่งต้องอดออมและใช้ชีวิตที่ยากลำบากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และชนชั้นแรงงานจำนวนมากถูกเกณฑ์เป็นทหารประชาชนทุกชนชั้นทั้งประเทศต้องเผชิญชะตากรรมยามสงครามที่ยาวนานจนทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันว่าหลังสงครามรัฐไม่ควรปล่อยให้ใครคนใดถูกทอดทิ้งให้ยากลำบากอีกต่อไป

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ พรรคแรงงาน (Labour Party)* ซึ่งนำเสนอนโยบายปฏิรูปสังคมโดยชูคำขวัญว่า “นับจากอู่สู่สุสาน” (from the cradle to the grave) มีชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษเคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee)* นายกรัฐมนตรีจึงนำรายงานเบเวอริดจ์มาปฏิบัติ มีการออกพระราชบัญญัติที่สำคัญ ๓ ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันแห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๔๖ (National Insurance Act 1946) พระราชบัญญัติว่าด้วยการช่วยเหลือแห่งชาติค.ศ. ๑๙๔๖ (National Assistance Act 1946) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริการสุขภาพแห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๔๘ (National Health Service Act 1948) ทั้งหมดเป็นหัวใจหลักของระบบรัฐสวัสดิการและนับเป็นจุดเริ่มต้นของระบบรัฐสวัสดิการสมัยใหม่ของอังกฤษ การดำเนินงานตามรายงานเบเวอริดจ์ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นต่างๆที่เคยดูแลคนยากจนตามกฎหมายสงเคราะห์คนจน (Poor Laws)* ที่ใช้กันอยู่ผสานเข้าสู่ระบบใหม่ของประเทศคริสตจักรแองกลิคัน (Anglican Church)ก็ยุติเครือข่ายหน่วยงานบรรเทาทุกข์ และส่งต่อโรงเรียนศาสนาหลายพันโรง ตลอดจนโรงพยาบาลหลายแห่งให้รัฐรับผิดชอบแทน อย่างไรก็ตามในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ อังกฤษมีการปรับปรุงโครงสร้างระบบรัฐสวัสดิการโดยให้องค์การเอกชน(non-governmental organization) ดำเนินการให้บริการแก่สังคมในบางเรื่องแทน

 ส่วนประเทศยุโรปอื่น ๆ ก็ดำเนินการจัดระบบรัฐสวัสดิการตามหลังอังกฤษ ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการยึดปรัชญาของการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่พลเมือง การกระจายความมั่งคั่งให้เป็นธรรมขึ้น และการรับผิดชอบของสังคมต่อผู้อ่อนแอหรือผู้ด้อยโอกาสองค์ประกอบพื้นฐานของรัฐสวัสดิการคือ การจัดการประกันสังคม(socialinsurance)ซึ่งในอังกฤษเรียกว่า National Insurance ส่วนในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า SocialSecurityโดยทั่วไปแล้วจะเกี่ยวกับการว่างงานการเจ็บป่วยและการชราภาพและมักครอบคลุมไปถึงการที่รัฐจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การให้บริการด้านสุขภาพและที่อยู่อาศัย (ซึ่งในบางกรณีอาจให้เปล่า หรือคิดในราคาถูก) ในประเทศสังคมนิยมบางแห่งรัฐสวัสดิการอาจครอบคลุมถึงการจ้างงานและการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยการดำเนินการของรัฐเพื่อการสร้างสวัสดิการดังกล่าวอาศัยเงินที่มาจากการบังคับให้พลเมืองและผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในงบประมาณการดำเนินการ การคิดอัตราภาษีก้าวหน้าก็จัดว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งของรัฐถ้าเป็นไปเพื่อการกระจายรายได้ โดยเงินภาษีที่เก็บได้ก็นำมาใช้เพื่อการให้บริการหรือสิทธิประโยชน์บางอย่างแก่พลเมืองเมื่อการให้สิทธิประโยชน์นั้น ๆ ไม่สามารถเก็บเงินสมทบจากประชาชนได้

 กอสตา เอสพิง-แอนเดอร์เซน (Gøsta EspingAndersen) นักสังคมวิทยาชาวเดนมาร์ก ผู้แต่งเรื่องThe Three Worlds of Welfare Capitalism (ค.ศ. ๑๙๙๐) จัดกลุ่มประเทศทุนนิยมในยุโรปตามรูปแบบของรัฐสวัสดิการของประเทศนั้น ๆ เป็น ๓ กลุ่ม คือ

 แบบสังคมประชาธิปไตย (Social-Democratic model) ซึ่งใช้หลักการถ้วนหน้า (universalism) นั่นคือการให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการบริการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งแบบนี้จำเป็นต้องใช้เงินภาษีจำนวนมากในการดำเนินการ เพราะส่งเสริมการมีมาตรฐานความเป็นอยู่สูงเท่าเทียมกัน ไม่ใช่การมีมาตรฐานต่ำสุดในการครองชีพเป็นอย่างน้อยที่เท่าเทียมกัน เรียกอีกอย่างว่า แบบนอร์ดิก (Nordic model) ลักษณะสำคัญคือ เก็บภาษีสูง มีการกระจายรายได้อย่างมาก สตรีมีบทบาทในตลาดแรงงานมากมาตรฐานการครองชีพสูง พลเมืองมีความเชื่อใจและวางใจในระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ประเทศกลุ่มนี้ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ และสวีเดน

 แบบคริสเตียนประชาธิปไตย (Christian-Democratic model) หรือแบบอนุรักษนิยม (Conservative model) เป็นการใช้หลักการบริหารของรัฐในการดำเนินการโครงการประกันสังคมต่าง ๆ สนับสนุนการช่วยเหลือเป็นครอบครัว รัฐจะเข้าช่วยเมื่อครอบครัวไม่สามารถช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวได้อีกต่อไปลักษณะสำคัญคือการจัดระบบรัฐสวัสดิการที่ขึ้นกับการมีส่วนร่วมอุดหนุนทางการเงินจากสังคมไม่ใช่จากภาษี สังคมจะมีการกระจายรายได้ปานกลางมีอัตราการว่างงานสูงโดยเฉพาะในประเทศเขตยุโรปใต้ประเทศกลุ่มนี้ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ อิตาลี มอลตา ไซปรัส ตุรกี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ สเปน และโปรตุเกส

 แบบเสรี (Liberal model) หรือแบบแองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxon model) รัฐจะเข้ามาจัดหาความจำเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อบรรเทาความยากจนที่ต้องมีการพิสูจน์หรือทดสอบข้อเท็จจริง แบบนี้จะอาศัยกลไกรัฐควบคุมการจำแนกว่าใครอยู่ในข่ายจะได้รับความช่วยเหลือและใครที่ไม่อยู่ เป็นการช่วยที่ดูตามความจำเป็นและมุ่งไปที่ผู้มีรายได้น้อยเป็นการประกันว่าอย่างน้อยให้พลเมืองมีมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำลักษณะสำคัญคือ รัฐสิ้นค่าใช้จ่ายในด้านนี้น้อยกว่าแบบอื่น พลเมืองจึงมีระดับความไม่เท่าเทียมกันทางความเป็นอยู่สูง ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และไอร์แลนด์

 หลังสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republics–USSR)* ล่มสลายใน ค.ศ. ๑๙๙๑ และอดีตเครือรัฐสังคมนิยมโซเวียตประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมในเศรษฐกิจการตลาดทำให้เกิดนโยบายรัฐสวัสดิการแบบใหม่ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกซึ่งยังไม่มีนิยามและคำศัพท์ใช้เรียกแบบดังกล่าว แต่มีการจัดกลุ่มรัฐสวัสดิการคร่าว ๆ ได้ดังนี้

 กลุ่มอดีตเครือรัฐสังคมนิยม ได้แก่ เบลารุส เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย รัสเซีย และยูเครน จะคล้ายแบบอนุรักษนิยมในแง่การใช้จ่ายด้านนี้ของรัฐ ที่แตกต่างคือคุณภาพชีวิตและระดับความมั่นใจในระบบสาธารณะของรัฐ

 กลุ่มอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ ได้แก่ บัลแกเรีย โครเอเชีย เช็ก ฮังการี โปแลนด์ และสโลวะเกีย มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ากลุ่มแรกและมีระบบสร้างความเท่าเทียมกันมากกว่า แต่อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังน้อยหรือไม่ขึ้นสูงเท่ากลุ่มแรก

 กลุ่มที่กำลังพัฒนากระบวนการ ได้แก่ จอร์เจีย โรมาเนีย และมอลเดเวีย คือประเทศที่กำลังพัฒนาโครงการการช่วยเหลือของรัฐ ตัวบ่งชี้ถึงระดับคุณภาพชีวิตยังต่ำกว่า ๒ กลุ่มแรกมีอัตราการตายของเด็กทารกสูงและอายุขัยของพลเมืองยังต่ำซึ่งสะท้อนความยากลำบากของสถานการณ์สังคมในประเทศ

 ช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ ถึงต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ จัดได้ว่าเป็นยุคทองของพัฒนาการของรัฐสวัสดิการในยุโรปแต่ต่อมาประเทศตะวันตกที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการและสหรัฐอเมริกาก็ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์น้ำมันจนเกิดอัตราการว่างงานสูงมากตามมา ระบบรัฐสวัสดิการที่ขึ้นอยู่กับหรือต้องอาศัยการสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจากคนงานและนายจ้างแบบเยอรมนี หรือจากการเก็บภาษีแบบของอังกฤษจึงประสบปัญหาด้านเงินทุนในการดำเนินงานทั้งสิ้น อีกทั้งระบบรัฐสวัสดิการเองก็ถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำด้วยเพราะใช้เงินในการดำเนินการจำนวนมากแทนที่จะนำไปใช้เพื่อการลงทุน นอกจากนี้รัฐสวัสดิการยังถูกเพ่งเล็งด้วยว่ากัดกร่อนความคิดริเริ่มหรือเจตจำนงในการทำงานของพลเมือง เพราะผู้คนมุ่งแต่จะได้สิทธิประโยชน์จากรัฐจนติดการพึ่งพิงรัฐ ด้วยเหตุนี้ผู้นำชาติตะวันตกอย่างมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)* แห่งอังกฤษ เฮลมุท โคห์ล (Helmut Kohl)* แห่งเยอรมนีตะวันตก หรือแม้กระทั่งประธานาธิบดีรอนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ ล้วนแต่มีนโยบายต่อต้านรัฐสวัสดิการทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเงินกองทุนของรัฐขาดแคลนเงินสมทบที่เคยได้รับ พวกอนุรักษนิยมในยุโรปจึงพยายามลดทอนสิทธิประโยชน์ที่รัฐเคยให้และพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอรับสวัสดิการถี่ถ้วนมากขึ้นโดยพยายามจำกัดให้แก่เฉพาะผู้จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจริง ๆ แต่การลดทอนสิทธิประโยชน์ที่เคยให้แก่ผู้คนเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ไม่ง่ายนัก และจะมีผลต่อคะแนนเสียงทางการเมืองด้วย ดังนั้นจึงกระทำได้แต่การตั้งเกณฑ์ของผู้มีคุณสมบัติให้เข้มงวดและปรับทิศทางของระบบรัฐสวัสดิการจากการช่วยเหลือยามไม่มีงานทำเป็นการกระตุ้นให้คนทำงานโดยยกประโยชน์ต่าง ๆ ขึ้นมาจูงใจ ตลอดจนขยายเวลาเกษียณจากการทำงานด้วย

 กล่าวโดยสรุป รัฐสวัสดิการเป็นชุดโครงการของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่จะประกันความผาสุกของพลเมืองเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ของสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เน้นความเป็นปัจเจกในระยะแรกรัฐสวัสดิการทั้งหลายจะให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่คนยากจนในรูปเงินสดซึ่งอาจเรียกว่าเงินอุดหนุนและในรูปอื่น ได้แก่ ที่อยู่อาศัย และการบริการต่าง ๆตลอดจนให้การประกันสังคมหากมีความจำเป็น อันได้แก่ ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ การคลอดบุตร การเลี้ยงดูบุตร หรือการสูงวัย รวมทั้งการเผชิญความเสี่ยงจากการทำงาน เช่น การตกงาน อุบัติเหตุ การบาดเจ็บปัจจุบันระบบรัฐสวัสดิการถูกท้าทายมากขึ้นเนื่องจากโครงสร้างประชากรของสังคมที่มีคนสูงวัยมากขึ้นเรื่อย ๆ และหลายครอบครัวมีพ่อหรือแม่เลี้ยงดูบุตรเพียงลำพัง ซึ่งรัฐสวัสดิการแบบก่อนไม่ได้ถูกกำหนดให้มารับมือ กลายเป็นว่ามีคนเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากระบบมากขึ้น ขณะที่การสมทบเงินจากฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างลดลง ลูกจ้างที่เคยสมทบเงินให้รัฐกลายเป็นผู้ที่เข้าถึงเงินประกันการตกงานเป็นเวลายาวนาน

 อังกฤษซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มรัฐสวัสดิการที่สิ้นค่าใช้จ่ายน้อยกว่าอีก ๒ กลุ่มนั้น ปรากฏว่า ๒ ใน ๓ ของค่าใช้จ่ายของรัฐในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ เป็นเงินบำเหน็จบำนาญจากรัฐ (state pensions) ตามมาด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านที่พักอาศัย นับว่าเป็นจำนวนค่าใช้จ่ายที่แตกต่างจากสมัยที่เซอร์เบเวอริดจ์เสนอโครงการอย่างมากเพราะสมัยก่อนการเข้าสู่วัยชราแตกต่างกับปัจจุบัน ตอนนั้นเขาระบุว่ารัฐจะจ่ายให้คนเกษียณจากงานคือ ผู้ชายอายุ ๖๕ ปี ผู้หญิง ๖๐ ปี ขณะที่อายุขัยผู้ชายโดยเฉลี่ยคือ ๖๓ ปี แต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนยืนยาวกว่าเดิมมากเพราะการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น การขอรับค่ารักษาพยาบาลก็มากกว่าเดิมไปด้วยเมื่ออายุเฉลี่ยของคนสูงขึ้น อีกทั้งสตรีทำงานนอกบ้านมากกว่าเดิม คิดเป็นร้อยละ ๖๙.๗ ทำให้ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ รัฐบาลอังกฤษจึงสนับสนุนให้เอกชนแต่ละรายหาหลักประกันส่วนบุคคลเอง แรงจูงใจให้กระทำการดังกล่าวก็คือการใช้นโยบายลดทอนภาษีที่พึงจ่ายให้รัฐนโยบายรัฐสวัสดิการได้เปลี่ยนแปลงและก้าวไกลไปกว่าแนวคิดเดิมที่เซอร์เบเวอริดจ์เคยคิดไว้ เพราะรัฐต้องลดหย่อนภาษี จัดการเกี่ยวกับเงินรายได้ขั้นต่ำ และอื่น ๆ

 ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ สิ่งท้าทายระบบรัฐสวัสดิการของประเทศยุโรปอีกประการก็คือ ปัญหาผู้อพยพเข้าเมือง ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของประเทศในยุโรป จึงมีเสียงพูดว่าการจัดระบบรัฐสวัสดิการให้แก่ผู้อพยพอาจยกไปให้องค์การระหว่างประเทศอย่างสหภาพยุโรป (European Union–EU)* องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization–ILO) เป็นต้น.



คำตั้ง
Welfare State
คำเทียบ
รัฐสวัสดิการ
คำสำคัญ
- กฎหมายสงเคราะห์คนจน
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- คอมมูนแห่งปารีส
- โคห์ล, เฮลมุท
- แทตเชอร์, มาร์กาเร็ต
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- เบเวอริดจ์, วิลเลียม เฮนรี
- พรรคแรงงาน
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- พรรคเสรีนิยม
- ยูเครน
- รัฐสวัสดิการ
- รายงานเบเวอริดจ์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สหภาพยุโรป
- สหภาพแรงงาน
- สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต
- แอตต์ลี, เคลเมนต์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-